วันอังคาร, มีนาคม 13, 2550

ความเข้าใจ(ผิดๆ)เรื่องวรรณยุกต์

สมัยเด็กไม่รู้เหมือนกันว่าถูกปลูกฝังไว้ตอนไหนว่าภาษาไทยมีเอกลักษณ์ที่มีการใช้วรรณยุกต์เป็นเสียงดนตรี โดดเด่นจากภาษาไทยๆในโลก

ที่ว่าเด็กนี่จำไม่ได้ว่าเด็กขนาดไหน เอาเป็นว่าตั้งแต่จำความได้ก็ฝังหัวอย่างนี้แ้ล้ว(ถึงแม้ผมจะจำความได้ค่อนข้างช้าสักหน่อยก็ตาม)

เรื่องนี้สอดคล้องกับสมมติฐานของผมว่า เด็กพร้อมจะรับความเชื่อที่มีคนสอนอย่างง่ายดาย โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงหรือตรรกะใดๆ

ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะว่าผมเรียนโรงเรียนจีนมาแต่เด็ก เรียนภาษาจีนกลาง ส่วนที่บ้านก็พูดจีนแต้จิ๋วด้วย

แต่กลับไม่เคยเอะใจเลยว่าทั้งจีนกลางและจีนแต้จิ๋วนี้ก็มีวรรณยุกต์ใช้ด้วยกันทั้งสิ้น

จีนกลางมีวรรณยุกต์ 4 เสียง อิง หยาง ส่าง ชวี่

จีนแต้จิ๋วมีกี่เสียงไม่แน่ใจ เพราะสำเนียงจีนแต้จิ๋วในไทยมันกลายจนฟังไม่ออก แต่เขาว่ามี 9 เสียง

เท่ากับจีนกวางตุ้งพอดี

และไม่น่าแปลกใจเลยว่าจีนสำเนียงอื่นๆย่อมต้องมีวรรณยุกต์ใช้ด้วยแน่นอน

วันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว จู่ๆผมก็เอะใจขึ้นมา เอ๊ะ วรรณยุกต์จีนก็มีนี่นา ทำไมถึงว่าไทยเรามีชาติเดียว

ลองค้นดูคร่าวๆยังพบว่า เวียดนามก็มี เอ... มันชักจะยังไงอยู่

แต่มานึกดู วรรณยุกต์จีนกลาง อิง หยาง ส่าง ชวี่ ดูคล้ายเสียง สามัญ จัตวา เอก โท ของไทยก็จริง แต่เสียง อิง จะสูงกว่า สามัญเราหน่อย ในขณะที่ ส่าง จะลดเสียงลงต่ำแล้วลากกลับขึ้นไปสูงอย่างชัดเจน

เข้าใจละ ที่ต่างกันก็เพราะภาษาไทยเป็นเสียงดนตรีนี่เอง เราถึงไม่เหมือนเขา มีวรรณยุกต์เหมือนกัน แต่ของเราเป็นโน้ต เท่กว่ากันแยะ

ย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันหน่อย
เสียงวรรณยุกต์ของจีนกลาง มี 4 เสียง
อิง เป็นเสียงเรียบแบบ -
หยาง เป็นเสียงที่ไล่สูงขึ้นแบบ /
ส่าง เป็นเสียงลดต่ำลงแล้วกลับไล่สูงขึ้นแบบ V
ชวี่ เป็นเสียงลดต่ำลงแบบ \

วันก่อนลอนนึกครึ้มใจลองไล่ดูเสียงวรรณยุกต์ไทยว่าตรงกับโน้ตตัวไหน
สามัญ นี่ เร หรือเปล่านะ
เอก นี่ คงเป็น โด
เอ๊ะ มันยังไง ทำไม เอก ต่ำกว่าสามัญหรือ?
โท เฮ้ย ไล่ยังไงก็ไม่ถูก มันโน้ตอะไรกันแน่

ชักข้องใจ เลย search หาใน google.com ดู

ผ่าง!

เสียงวรรณยุกต์ไทยไม่ใช่เสียงดนตรีจ้าาาาาาาาา

ทางสัทศาสตร์จะเป็นอย่างนี้
สามัญ คือ เสียงกลาง (middle)
เอก คือ เสียงต่ำ (low)
โท คือ เสียงไล่ลง (falling)
ตรี คือ เสียงสูง (high)
จัตวา คือ เสียงไล่ขึ้น (rising)

พอมองเห็นความจริงแล้ว

ถึงต้องปรับโลกทัศน์บ้าง

แต่คิดว่าจะมีความคิดในแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น

(เขียน 2006-07-30)

ไม่มีความคิดเห็น: