วันพุธ, พฤศจิกายน 22, 2549

โคลงจีน

ภาษาไทยกับภาษาจีนมีความคล้ายกันอยู่หลายประการ น่าสงสัยว่าบทกวีของจีนมีฉันทลักษณ์แตกต่างจากของไทยขนาดไหน

ลองค้นดู พอได้ความว่า ฉันทลักษณ์ที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า 近體詩 (จิ้นถี่ซือ) มีแบบแผนที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นโคลงประเภทหนึ่ง

ที่ว่าเป็นโคลงนั้นเพราะมีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ในแต่ละตำแหน่งด้วย

จิ้นถี่ซือจะมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 2 แบบ รวมเป็น 4 แบบด้วยกัน

กลุ่มแรกของเรียกว่า 律詩 (ลวี่ซือ: ลวี่แปลว่าแบบแผน ซือคือบทกวี)

พอแปลได้ว่าโคลงแบบแผน บทหนึ่งมี 8 วรรค ถ้าวรรคหนึ่งมี 5 คำจะเรียกว่า 五律 (อู่ลวี่: อู่แปลว่าห้า) ถ้าวรรคหนึ่งมี 7 คำก็จะเรียกว่า 七律 (ชีลวี่: ชีแปลว่าเจ็ด)กลุ่มที่สองเรียกว่า 絕句 (เจวี๋ยจวี้) พอแปลได้ว่าโคลงตัด

บทหนึ่งจะมีเพียง 4 วรรค ฉันทลักษณ์จะเหมือนครึ่งแรกของลวี่ซือ มี 2 แบบเช่นเดียวกันคือ 五絕 (อู่เจวี๋ย) และ 七絕 (ชีเจวี๋ย)

ฉันทลักษณ์ของจิ้นถี่ซือจะบังคับ 3 อย่าง

1. สัมผัสสระระหว่างคำท้ายของวรรค 2 และ 4 และในกรณีของของลวี่ซือซึ่งมีบทละ 8 วรรคก็จะบังคับสัมผัสคำท้ายของวรรคที่ 6 และ 8 ด้วย กรณีที่เป็นโคลงตัด อาจมีสัมผัสสระระหว่างคำท้ายวรรคแรกกับวรรค 2 เพิ่มเข้าไปด้วย
2. เสียงวรรณยุกต์ในแต่ละตำแหน่งจะบังคับว่าตำแหน่งไหนต้องเป็นคำสุภาพ(เสียงสามัญ) ตำแหน่งไหนต้องเป็นคำเสียงแปร(คำที่มีเสียงวรรณยุกต์อื่นๆนอกจากเสียงสามัญ)
3. กรณีที่เป็นโคลงแบบแผน จะต้องมีความเท่าเทียบเปรียบเทียบกนได้(ทั้งในเรื่องของเสียง คำ และ ความ) 2 คู่ คือ วรรค 3 กับ 4 และ วรรค 5 กับ 6

ที่น่าสนใจคือในขณะที่จีนปัจจุบันใช้วรรณยุกต์ 4 เสียง

อิง(สามัญ) ,หยาง(จัตวา), ส่าง(เอก), ชวี่(โท)

เสียงวรรณยุกต์จีนโบราณในยุคที่จิ้นถี่ซือรุ่งเรืองจะเป็น

ผิง (สามัญ), ซ่าง (เอก), ชวี่ (โท), รู่ (เทียบกับไทยไม่ถูก แต่ดูเหมือนว่าจะคล้ายกับเสียงลหุในภาษาไทย)

ก็น่าคิดว่าโคลงไทยที่มีบังคับ สามัญ เอก โท จะมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับโคลงจีน

สำหรับเรื่องแบบแผนของโคลงจีนแต่ละแบบนั้นจะต่างกับไทย เพราะจะมีรูปแบบที่เป็นไปได้หลายรูปแบบสำหรับโคลงแบบเดียวกันเอง เลือกหยิบใช้ได้ตามความเหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่นโคลงเจ็ดตัดแบบหนึ่ง จะมีแบบแผนฉันทลักษณ์ดังนี้

11 00 01X
00 11 00X
00 11 100
11 00 01X

0 แทนคำสุภาพ (เสียงวรรณยุกต์สามัญ)
1 แทนคำเสียงแปร (เสียงวรรณยุกต์อื่นนอกจากสามัญ)
X แทนคำเสียงแปรที่สัมผัสสระกัน
คำที่ขีดเส้นใต้ ไม่เคร่งครัดการบังคับเสียงวรรณยุกต์

เท่าที่สำรวจดูจากงานของกวีที่มีชื่อเสียงบางบท รู้สึกว่าบังคับวรรณยุกต์นี้ไม่ได้เคร่งครัดนัก และพบสัมผัสในทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะบ้าง แต่ไม่มากมายเหมือนบทกวีของไทยลองแต่งดูสักบท ไม่เคร่งครัดนัก พอให้เห็นภาพ

หยาดฝนหล่นมาคราพี่เศร้า
คร่ำครวญหวนไห้ฤๅคลายเหงา
ดวงดาวส่องแสงเหมือนเตือนใจ
ฝากข่าวตามลมไปสู่เจ้า


ความส่วนใหญ่เก็บมาจาก http://www.poetry-chinese.com/

ไม่มีความคิดเห็น: